พม.จับมือ ม.อุบล-ม.ราชภัฏอุบล แก้ปมวิกฤตประชากร

Last updated: 10 มี.ค. 2567  | 

พม.จับมือ ม.อุบล-ม.ราชภัฏอุบล แก้ปมวิกฤตประชากร


ปลัด พม. จับมือ ม.อุบล-ม.ราชภัฏอุบล สร้างงานวิจัย - นวัตกรรม แก้ปมวิกฤตประชากร ช่วยกลุ่มเปราะบางในพื้นที่



วันที่ 10 มี.ค. ที่ จ.อุบลราชธานี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจทางวิชาการด้านสหกิจศึกษาและการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.) และระหว่าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี (มรภ.อบ.) ร่วมกับ ผศ.ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และรศ.ธรรมรักษ์ ละอองนวล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ร่วมลงนาม เมื่อวันที่ 9 มี.ค.67 ที่ห้องประชุมปทุมวรราช ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี



นายอนุกูล กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง และความท้าทายต่อบทบาทและภารกิจของกระทรวง พม. อาทิ การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร วิกฤตเด็กเกิดน้อย ในขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทรวง พม. จำเป็นต้องยกระดับการทำงานเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้านสังคมให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย และเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนในกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย อาทิ เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ สตรี ครอบครัว คนพิการ และกลุ่มเปราะบาง

นายอนุกูล กล่าวว่า กระทรวง พม. เห็นถึงโอกาสการเป็นหุ้นส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ด้านสหกิจศึกษาและการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานในครั้งนี้ และได้กำหนดเป้าหมายร่วมกัน 4 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1. ร่วมกันพัฒนาคุณภาพของนักศึกษาระดับอุดมศึกษา 2. ร่วมกันส่งเสริม และผลิตผลงานวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ 3. ร่วมกันในการศึกษา ค้นหา วิจัยการสร้างนวัตกรรมทางสังคมตามบริบทของพื้นที่ และ 4. ร่วมกันสร้างการสื่อสารทางสังคม และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ด้านวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้สอดคล้องกับพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย



นายอนุกูล กล่าวว่า การผนึกกำลังความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษา ได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์การปฏิบัติงานจริง การสร้าง Mindset ให้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการดูแลคนกลุ่มเปราะบาง การเสียสละเพื่อชุมชนและสังคม ตลอดจนพัฒนาให้นักศึกษามีจิตสาธารณะที่ไม่สามารถหาได้จากในชั้นเรียน นำไปสู่การพัฒนาตนเองให้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนการสร้างความร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งมหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญทั้งด้านองค์ความรู้ ทฤษฎี ตลอดจนงานวิจัยต่าง ๆ ที่สามารถเติมเต็มให้กับบุคลากรของกระทรวง พม. เพื่อนำไปปรับประยุกต์ในการให้บริการ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในพื้นที่

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้