Last updated: 10 ส.ค. 2567 |
วันนี้ (10 สิงหาคม 2567) นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี นางนันท์ฐิตา ศิริคุปต์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการ
ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมศุลกากร นายนิติ วิทยาเต็ม รองอธิบดีกรมศุลกากร พร้อมด้วย นายวรพัฒน์ เชาว์วิศิษฐ ผู้อำนวยการกองสืบสวนและปราบปราม
นายภาคภูมิ เลิศวัฒนารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ กรมศุลกากร และ พ.ต.อ. วรัตม์ เจตตานนท์
ผู้กำกับการกองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 1 กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) Superintendent Michael CYMBALISTA (ไมเคิล ซิมบาลิสต้า) Counsellor – Mekong Region, Australian Embassy, Bangkok และ นายโคดี้ ต่ง เลขานุการฝ่ายกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป
ประจำประเทศไทย ร่วมแถลงข่าว “กรมศุลกากรรวบยาเสพติดเตรียมลักลอบส่งออกทางเรือและทางอากาศ มูลค่ากว่า 98.29 ล้านบาท” ณ ห้องโถง อาคาร 1 ชั้น 1 กรมศุลกากร
นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน
ให้ความสำคัญในการปราบปรามยาเสพติดให้หมดไปจากประเทศ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงเร่งเดินหน้าปราบปรามยาเสพติดทั้งการนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน และการลักลอบจำหน่าย โดยสั่งการให้กรมศุลกากรบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปราบปรามยาเสพติดให้หมดไป ทั้งนี้ นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร
ได้ขานรับนโยบายโดยกำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติดในทุกช่องทาง
โดยในวันนี้ กรมศุลกากรมีผลงานการสกัดกั้นการลักลอบส่งยาเสพติดออกนอกราชอาณาจักร
ทั้งทางทางเรือและทางอากาศ ดังนี้
การสกัดกั้นการลักลอบส่งออกยาเสพติดทางเรือ
กรมศุลกากรได้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง โดยบูรณาการด้านการข่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานภายใต้โครงการความร่วมมือด้านปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ท่าเรือ (Seaport Interdiction Task Force : SITF) Australian Federal Police (AFP) Australian Border Force (ABF) และ Ministry of Justice Investigation Bureau (MJIB) อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ทำการวิเคราะห์ใบขนสินค้าขาออกที่มีความเสี่ยงลักลอบส่งออกยาเสพติดทางท่าเรือกรุงเทพ พบใบขนสินค้าต้องสงสัยระบุปลายทางประเทศไต้หวัน สำแดงชนิดสินค้าเป็นเครื่องบดเนื้อและเครื่องทำลูกชิ้นรวม 3 เครื่อง จึงประสานเจ้าหน้าที่ศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ และ SITF เพื่อตรวจสอบ พบเฮโรอีนซุกซ่อนในมอเตอร์เครื่องบดเนื้อ 2 เครื่อง เครื่องละ 16 ก้อน
รวมเป็นจำนวน 32 ก้อน น้ำหนักรวมสิ่งห้อหุ้ม 11.8 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 35.52 ล้านบาท จึงนำของกลางทั้งหมด
ส่ง บช.ปส และรวบรวมข้อมูลเพื่อขยายผลร่วมกับ SITF เบื้องต้นพบว่าผู้กระทำความผิดเป็นกลุ่มลักลอบลำเลียงยาเสพติดรายสำคัญทางจังหวัดเพชรบูรณ์ที่อยู่ระหว่างการติดตามของ ป.ป.ส. และ บช.ปส.
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 ได้ทำการวิเคราะห์ใบขนสินค้าขาออกที่มีความเสี่ยงลักลอบส่งออกยาเสพติดทางท่าเรือกรุงเทพ ปลายทางประเทศ Australia จึงทำการตรวจสอบด้วยเครื่องเอกซเรย์และสุนัข
ดมกลิ่นของกรมศุลกากร (K-9) พบเฮโรอีนซุกซ่อนอยู่ในชายเสื้อชาวเขา จำนวน 600 ชิ้น น้ำหนัก 20.25 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 60.75 ล้านบาท
การกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐานพยายามส่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และตามมาตรา 244 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560
การสกัดกั้นการลักลอบส่งออกยาเสพติดทางอากาศ
สำหรับการขนส่งสินค้าทางอากาศ กรมศุลกากรได้เฝ้าระวังการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาและส่งออกไปนอกราชอาณาจักร โดยบูรณาการด้านการข่าวอย่างต่อเนื่องกับหน่วยสกัดกั้นยาเสพติดผ่านท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Task Force: AITF) มาโดยตลอด
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม และหน่วยสกัดกั้น
ยาเสพติดผ่านท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Task Force: AITF) ประกอบด้วย ป.ป.ส. และ บช.ปส.
ได้ร่วมกันตรวจสอบพัสดุไปรษณีย์ขาออกระหว่างประเทศ ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ จำนวน 1 หีบห่อ
ปลายทางประเทศ Australia สำแดงชนิดสินค้าเป็น “Kitchenware” ผลการตรวจสอบ พบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน (Heroin) ลักษณะเป็นผงสีขาวขุ่น ห่อหุ้มด้วยเทป บรรจุในซองพลาสติกปิดทับด้วยเทป
สีเหลือง ซุกซ่อนในผนังด้านข้างของกล่องพัสดุไปรษณีย์ น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 320 กรัม มูลค่าประมาณ 960,000 บาท
และในวันเดียวกัน ได้ตรวจพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไอซ์ (Methamphetamine) ปลายทางประเทศ Australia อีก 1 หีบห่อ โดยมีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวขุ่น ห่อหุ้มด้วยกระดาษฟอยล์ พลาสติกใสพิมพ์ลาย และกระดาษคาร์บอนซุกซ่อนอยู่ภายในปิ่นโต น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 440 กรัม มูลค่าประมาณ 1.056 ล้านบาท ทั้งนี้ กรมศุลกากรจึงได้ตรวจยึดของกลางดังกล่าวส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และหน่วย AITF จะดำเนินการประสานกับศุลกากรประเทศออสเตรเลีย เพื่อดำเนินการสืบสวนและขยายผลไปยังประเทศปลายทางต่อไป
การกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐานพยายามส่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และตามมาตรา 242 และ มาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560
สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 9 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมยาเสพติด ทั้งสิ้น 123 คดี มูลค่ารวม 970.70 ล้านบาท
22 ส.ค. 2567