เสมา 3 มอบนโยบายการศึกษาเอกชน ในการประชุมใหญ่สามัญสมาชิกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน ประจำปี 2564

Last updated: 20 ธ.ค. 2564  | 

เสมา 3 มอบนโยบายการศึกษาเอกชน ในการประชุมใหญ่สามัญสมาชิกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน ประจำปี 2564

เสมา 3 มอบนโยบายการศึกษาเอกชน ในการประชุมใหญ่สามัญสมาชิกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน ประจำปี 2564


วันนี้ (20 ธันวาคม 2564) เวลา 09.00 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช. ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สามัญสมาชิกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน ประจำปี 2564 เพื่อมอบนโยบายการจัดการศึกษาเอกชนและบรรยายพิเศษ พร้อมด้วย นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. (ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ รมช.ศธ.) นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการ กช. ผู้บริหาร สช. นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (นายกสมาคม ปส.กช.) ประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนทุกจังหวัด (ปส.กช.) นายกสมาคมทางการศึกษาเอกชน กรรมการบริหารสมาคม และผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร


นางกนกวรรณ ได้กล่าวในการมอบนโยบายฯ ว่า ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการมอบนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาเอกชนที่ตนได้ร่วมผลักดันมาโดยตลอดจะส่งผลให้โรงเรียนเอกชนมีความเข้มแข็ง และเป็นกำลังสำคัญร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้แก่เด็ก และเยาวชนไทย โดยที่ผ่านมา ตนได้ผลักดันนโยบายสำคัญหลายประการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาเอกชน โดยตนมีนโยบายที่ดำเนินการสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้ว คือ

1. จากผลกระทบของสถานการณ์การการแพร่ระบาดของโควิด – 19 จึงได้มีการเพิ่มเพดานการเบิกเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ของผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนเอกชน จากไม่เกินคนละ 100,000 บาท/คน/ปี มาเป็น 150,000 บาท/คน/ปี เพื่อแก้ไขปัญหาสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลไม่เพียงพอ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นมา

2. ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 โดยตนได้มอบหมายให้ สช. ศึกษา รวบรวม พัฒนา และขยายผลรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อจะช่วยให้ครูและผู้เรียนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งทาง สช. ได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล สช.” เพื่อให้บริการรูปแบบ เนื้อหาการจัดการเรียนการสอน การรวบรวมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จัดหมวดหมู่แยกตามระดับชั้น รายวิชา ไว้ในคลังสื่อออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

3. ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายทางการศึกษาเอกชน เพื่อใช้ในการติดต่อ สื่อสาร ผ่านแอปพลิเคชั่น “สช. On Mobile” อาทิ ระบบการประชาสัมพันธ์ การแจ้งเตือน การร้องเรียน การแจ้งปัญหา การสำรวจความคิดเห็น การเผยแพร่ข้อมูลความรู้และการตรวจสอบสิทธิ์และสวัสดิการกองทุนสงเคราะห์ เป็นต้น

4. การยกระดับคุณภาพการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ได้แก่ การผลักดันการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลสำหรับนักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา และอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบในการปรับเพิ่มอัตราเงินดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนเงินสมทบเงินเดือนครู โดยปรับหลักเกณฑ์การคำนวณสัดส่วนครูต่อนักเรียนพิการในระดับก่อนประถม-ประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา/ปวช. รวมไปถึงการเพิ่มเงินอุดหนุนสมทบเงินเดือนพี่เลี้ยง จำนวน 7,200 บาท/คน/ปี อีกด้วย หากได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ก็จะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 118,739,045 บาท และจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ยังมีการจัดสรรข้าราชการครู พนักงานราชการ เพื่อมาปฏิบัติงานใน 10 โรงเรียนเอกชนเฉพาะความพิการเพิ่มอีกจำนวน 32 อัตรา อีกด้วย

5. การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อให้การช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษในโรงเรียนเอกชน ตามโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งถึงแม้ว่าเกณฑ์ในการจัดสรรและคัดเลือกนักเรียนจะเป็นไปตาม กสศ. แล้วนั้น แต่ทางตนก็พยายามที่จะผลักดันให้นักเรียนในสังกัด สช. ได้รับเลือกและผ่านเข้าเกณฑ์ทุกคน

6. การส่งเสริมกิจการลูกเสือในโรงเรียนเอกชน โดยสนับสนุนงบประมาณสำหรับการจัดอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือและการจัดอบรมลูกเสือมัคคุเทศก์ของโรงเรียนเอกชนดำเนินการร่วมกับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ทั้งนี้ตนขอเชิญชวนโรงเรียนเอกชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมโครงการลูกเสือจิตอาสาพระราชทานได้ตามความสมัครใจอีกด้วย

และ 7. การช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนที่ประสบอุทกภัย ซึ่งตนได้มอบหมายให้ สช. ทำการลงพื้นที่และมอบเงินช่วยเหลือในเบื้องต้น โรงเรียนละ 10,000 บาท ตามความเสียหายและผลกระทบของแต่ละโรงเรียนที่ได้รับ อีกทั้งให้สำรวจความเสียหายเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล และประสานงานกับโรงเรียนในพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังเหตุ และมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น

ด้าน นายพีรศักดิ์ รัตนะ กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมว่า ตนขอเป็นตัวแทนของ สช. ในการขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่โรงเรียนเอกชนได้ช่วยให้ภาครัฐมีการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ซึ่งหากดูจากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561- 2563 ของนักเรียนโรงเรียนเอกชนแล้วนั้น พบว่ามีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในทุกรายวิชา ถึงแม้ว่าสัดส่วนของจำนวนนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต่อจำนวนนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จะมีมากกว่าก็ตาม ทั้งนี้คิดเป็นร้อยละ 64 ต่อร้อยละ 24 แต่ตนก็เชื่อว่าเด็กทุกคนของ สช. มีศักยภาพ ทักษะความสามารถในตัว มีทั้งความแตกต่างและความหลากหลายกันไป ทั้งทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และการกีฬา เป็นต้น



ทั้งนี้ตนเห็นว่าการดึงความสามารถต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จากการจัดการเรียนการสอนของครูที่เข้าใจในวิธีการคิดวิเคราะห์ แรงกระตุ้นต่างๆ ต่อตัวเด็กได้เป็นอย่างดี โดยที่ทาง สช. เองก็จะต้องออกแบบการเรียนรู้ต่างๆ เหล่านั้นเพื่อดึงศักยภาพของเด็กออกมาได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นในปีงบประมาณ พ.ศ 2565 นี้ ทาง สช. จึงได้มีการจัดทำนโยบายและจุดเน้นการส่งเสริมการศึกษาเอกชน อันได้แก่

1. การช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 อาทิ การสนับสนุนเงินช่วยเหลือผู้ปกครองและนักเรียนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาจำนวน 2,000 บาทต่อคน ในภาคการศึกษาที่ 1/2564, การจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด – 19 ให้แก่นักเรียน ครู และบุคลากรของโรงเรียนเอกชน, มาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงินในการบริหารจัดการโรงเรียนจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ, สนับสนุนให้โรงเรียนเอกชนเปิดการเรียนการสอนตามปกติ (On-site), เปิดโอกาสให้โรงเรียนสามารถนำเงินอุดหนุนกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน การตรวจคัดกรองโรค การป้องกันและการส่งเสริมสุขภาพอนามัยที่ดีแก่นักเรียน, การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อให้การช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษในโรงเรียนเอกชน ในปีการศึกษา 2564 และการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล "ศูนย์การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน“(OPEC Digital Learning Center : ODLC) เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนออนไลน์ให้กับโรงเรียนเอกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

2. การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการจัดการศึกษา ได้แก่ การพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการ สมรรถนะ และคุณลักษณะที่ดีที่สมวัยทุกด้าน (ร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา), การจัดการศึกษาทุกระดับโดยใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยยึดความสามารถของผู้เรียนเป็นหลัก พัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการ รวมทั้งแนวทางการจัดการเรียนรู้เชิงรุกและการวัดประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน ให้มีความรู้ ทักษะและคุณลักษณะ ที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย, พัฒนาครูให้มีทักษะ ความรู้ และความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และภาษาอังกฤษ รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนเพื่อฝึกทักษะ การคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและมีเหตุผลเป็นขั้นตอน, พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์ สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) จากประสบการณ์จริงหรือจากสถานการณ์จำลองผ่านการลงมือปฏิบัติ ตลอดจนจัดการเรียนการสอนในเชิงแสดงความคิดเห็นเพื่อเปิดโลกทัศน์มุมมองร่วมกันของผู้เรียนและครูให้มากขึ้น, ส่งเสริมและพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเอกชน และการจัดงานวันการศึกษาเอกชน

3. การสร้างโอกาสทางการศึกษา อาทิ โครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เด็กที่มีความสามารถพิเศษ และเด็กด้อยโอกาส และโครงการส่งเสริมการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

และ 4. การพัฒนาระบบการบริหารจัดการ โดยมีการศึกษาและปรับปรุงอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายต่อหัวในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ, การพัฒนาและปรับปรุงฐานข้อมูลการศึกษาเอกชนเพื่อให้ได้ข้อมูลภาพรวมการศึกษาของประเทศที่มีความครบถ้วน สมบูรณ์ ถูกต้องเป็นปัจจุบัน (Big Data), ปรับปรุงด้านกฎหมายและระเบียบที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดในการดำเนินงาน และ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาการศึกษาเอกชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ นายพีรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย


ในการนี้ นางกนกวรรณ (รมช. ศธ.) ได้มอบรางวัลประกาศเกียรติคุณเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานให้แก่ นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน และกรรมการบริหาร ปส.กช. ที่ได้ร่วมกันประสานความร่วมมือระหว่างคณะผู้บริหาร ครูและบุคลากรของโรงเรียนเอกชนทุกจังหวัด และร่วมกันส่งเสริม ขับเคลื่อนการดำเนินงานของโรงเรียนเอกชนต่อไปอีกด้วย

ฐิติวัจน์ ชัยกิมานนท์ : ภาพ
ขวัญข้าว แสนบ่อ : ข่าว
กรรณิกา พันธ์คลอง : เรียบเรียง
ประชาสัมพันธ์ สช.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้