“วราวุธ” รุกเวที ม.สยาม ปาฐกถา "Gen Z อยู่ตรงไหนของนโยบายประเทศ" ถูกถาม ตัดเบี้ยผู้สูงอายุหรือไม่

Last updated: 29 ก.พ. 2567  | 

“วราวุธ” รุกเวที ม.สยาม ปาฐกถา "Gen Z อยู่ตรงไหนของนโยบายประเทศ" ถูกถาม ตัดเบี้ยผู้สูงอายุหรือไม่

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสยาม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปาฐกถาพิเศษ "Gen Z อยู่ตรงไหนของนโยบายประเทศ" ในงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง “เกิดเป็น Gen Z มันเหนื่อย” ตอนหนึ่งว่า Gen Z คือ คนที่เกิดในช่วงปี คศ. 1995 – 2009 โดยในโครงสร้างอายุของประชากรไทย ปี 2565 พบว่า มีอายุระหว่าง 15 – 29 ปี จำนวน 11.8 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน คิดเป็น 17.83 % ซึ่งมีนิสัยใจคอสำคัญ คือ ชอบเข้าสังคมและเทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้งมีความสำคัญในขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งเป็นกำลังหลักในตลาดแรงงาน มีการศึกษาสูง และทักษะทางเทคโนโลยีสูง



นายวราวุธ กล่าวว่า รัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ โดยให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเปราะบาง คนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มชาติพันธุ์ โดยจะดูแลให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมด้วย “สวัสดิการโดยรัฐ” ในขณะที่ กระทรวง พม. ในฐานะหน่วยงานหลักของภาครัฐด้านสังคมสำหรับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ได้ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อ Gen Z “การสร้างอนาคตที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประชาชนเขาถึงโอกาสและการคุ้มครองทางสังคม มีความมั่นคงในชีวิต” อีกทั้งแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนแหงชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2566 – 2570 ที่มุ่งให้เด็กและเยาวชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
โดยได้รับการพัฒนาตามช่วงวัยและมีศักยภาพ มีทักษะรอบด้าน เป็นพลเมืองไทยในพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ มีความซื่อสัตย์ สุจริต และมีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนาทุกมิติทางสังคม


นายวราวุธ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับคนทุกช่วงวัย ได้แก่ ผู้สูงอายุ มีการพัฒนาสวัสดิการสังคมและศักยภาพให้มีงานทำในวัยเกษียณ วัยทำงาน มีการสร้างความมั่นคงในชีวิต ด้วยบ้านตั้งต้น First-Jobber Housing และพัฒนาเยาวชนเป็นผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม เด็กและเยาวชน มีการยกระดับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถ้วนหน้า เป็นต้น สำหรับการส่งเสริมความเท่าเทียมกันในสังคม มีการสนับสนุนการจ้างงานคนพิการในภาครัฐและเอกชน และพัฒนาอารยสถาปัตย์ สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานสำหรับคนทุกกลุ่มอีกด้วย

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มเปราะบางที่คนเข้าใจนั้น ไม่ได้เปราะบางอย่างที่คิด เพียงแต่สังคมไม่ได้ให้โอกาสในการดำรงชีพอย่างเท่าเทียม ตนจึงขอเรียกว่า “กลุ่มขาดโอกาส” ดังนั้น เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลุ่มขาดโอกาสจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดและฟื้นตัวนานที่สุด เราต้องเสริมสร้างองค์ความรู้ในการปรับตัวและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ วัยทำงานที่มีคู่ชีวิตและมีบุตร เราต้องส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ความเสมอภาคระหว่างเพศ สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อครอบครัว โดยเฉพาะเสริมทักษะการเลี้ยงดูบุตรหลาน



อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายที่เปิดโอกาสให้มีการซักถามเพิ่มเติม ได้มีผู้เข้าร่วมรับฟัง สอบถามถึงกรณี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะถูกตัดออกจากนโยบายรัฐบาลหรือไม่ นั้น นายวราวุธ ยืนยันว่า ไม่มีทางที่รัฐบาลจะตัดนโยบายดังกล่าวออกไป มีแต่จะพิจารณาเพิ่มให้ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการจัดสวัสดิการโดยรัฐ เพิ่งมีมติที่ประชุมเห็นชอบ ยกเลิกการจ่ายแบบขั้นบันได เป็นการจ่ายแบบ 1,000 บาทถ้วนหน้า

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้