วางศิลาฤกธิ์ 3 โรงไฟฟ้า RDF เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 15.9 เมกะวัตต์

Last updated: 17 ก.ย. 2567  | 

วางศิลาฤกธิ์ 3 โรงไฟฟ้า RDF เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 15.9 เมกะวัตต์

ผู้ว่าราชการ จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมนายก ทม.แพรกษาใหม่ และบริษัท มหานคร กรีน เอเนอร์จี้ (MHG) ร่วมวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF แห่งใหม่ รวม 3 โครงการ เพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มอีก 15.9 เมกะวัตต์

วันนี้ 17 กันยายน 2567 นายศุภมิตร ชินศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วยนายอำนวย บุญริ้ว นายกเทศมนตรีเมืองแพรกษาใหม่ และนายอบีนาช มาจี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด ร่วมวางแผ่นศิลาฤกษ์ ในโครงการก่อสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะชุมชนอีก 3 โครงการของบริษัท มหานคร กรีน เอเนอร์จี้ จำกัด (MHG) เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า เพิ่มขึ้นอีก 15.9 เมกะวัตต์  จากเชื้อเพลิงขยะ ซึ่งโรงแรกสามารถผลิตไฟฟ้ามากถึง 9.9 เมกะวัตต์และอีก 2 โรงงาน จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ โรงละ  3.3 เมกะวัตต์  ซึ่งในการวางศิลาฤกษ์ในครั้งนี้ มีนายวุฒินันท์ บุญชู  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 4 สมุทรปราการ พรรคประชาชน และ นางสาวนิตยา มีศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 5 สมุทรปราการ พรรคประชาชน ร่วมถึงข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ประชาชนรอบโรงไฟฟ้าเข้าร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก

 
นายอบีนาช มาจี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด  เผยว่าบริษัท มหานคร กรีน เอเนอร์จี้ จำกัด (MHG) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด (EEP) และได้รับสัญญาให้สิทธิ์เอกชนให้ดำเนินโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF โดยก่อสร้างและบริหารจัดการโรงไฟฟ้า จำนวน 3 โครงการ ร่วมกับเทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ ที่มีเป้าหมายในการแปรรูปขยะชุมชนเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า จากปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 1 โรงงาน และดำเนินการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ด้วยกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ ต.แพรกษาใหม่ อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการแล้ว โดยยึดมั่นดำเนินการผลิตไฟฟ้าตามมาตรฐานที่หน่วยงานภาครัฐกำหนดไว้ทุกด้าน


การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน หรือ Waste to Energy เป็นแนวทางของการลดปริมาณขยะที่ยังคงสะสม จากปัญหาขยะล้นเมืองที่เกิดขึ้นทำให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญ และมองว่าปัญหาขยะมูลฝอยสะสมเป็นสิ่งที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปี 2566 สถานการณ์ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีประมาณ 26.95 ล้านตัน โดยมีอัตราการเกิดขยะมูลฝอยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรคิดเป็น 1.12 กิโลกรัม/คน/วัน และคาดว่าปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี  ในฐานะที่บริษัท EEP เป็นผู้นำในด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนอย่างครบวงจรและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำขยะมูลฝอยชุมชนกลับมาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมดูแลชุมชนและสังคม ตามนโยบายของนายอบีนาช มาจี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่นำหลักการบริหารจัดการขยะแบบ 360องศา มาใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การนำเทคโนโลยีบ่อขยะกึ่งใช้อากาศ หรือ Semi-Aerobic Landfill

โดยติดตั้งท่อระบายก๊าซ และนำวัสดุเสมือนดินมาใช้ปิดคลุมบ่อขยะพร้อมด้วยแผ่นพลาสติก เพื่อช่วยลดอัตราการเกิดก๊าซมีเทนและลดผลกระทบต่อการเกิดก๊าซเรือนกระจก การใช้เทคโนโลยีติดตามผลกระทบจากกลิ่น จากสถานีวัดกลิ่นออนไลน์ หรือ Electronic Nose (E-nose) โดยติดตั้งทั้งหมด 4 ทิศทางรอบบ่อขยะ และมีการติดตามผลกระทบตลอด 24ชั่วโมง พร้อมให้ประชาชนสามารถตรวจสอบค่าความเข้มข้นของกลิ่นได้

 

เพื่อให้กลุ่มบริษัท EEP เดินหน้าสู่เป้าหมาย “Zero Waste Zero Landfill” จัดการขยะให้หมดสิ้น ไม่ว่าจะส่งต่อเพื่อรีไซเคิล การนนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ หรือแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน ไม่ให้มีขยะหลงเหลือ กลุ่มบริษัท EEP จึงดำเนินตามแผนธุรกิจในการลงทุนเพิ่มศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ RDF อย่างยั่งยืนต่อไป เพื่อรองรับการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้