Last updated: 11 ม.ค. 2568 |
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปากท้องพี่น้องประชาชน พูดถึงโครงการแจกเงินหมื่นฟื้นเศรษฐกิจที่แจกกับประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจำนวนตัวเลขนั้น ประมาณ 14,000,000 คนบวกๆ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกด้วย จะเห็นว่า 2 โครงการนี้ แตกต่างกัน ระหว่างโครงการแจกเงินหมื่นฟื้นเศรษฐกิจ กับ อีกโครงการหนึ่ง คือ โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ถามว่าสอง โครงการต่างกันอย่างไร สำหรับโครงการแจกเงินหมื่นฟื้นเศรษฐกิจ เป็นโครงการที่แจกเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบาง แต่โครงการฟื้นฟูเศษฐกิจเพิ่งจะเริ่มดำเนินการไปเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการ SME ก็คือผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม
ซึ่งทั้งสองโครงการดังที่กล่าวมาแล้ว SMEs จะได้อานิสงส์อะไรบ้าง หรือว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ขณะนี้มาถูกทางหรือยัง ในมุมของกลุ่มตัวแทนภาคประชาชนผู้ประกอบการ
สกู๊ปพิเศษครั้งนี้ เราจะมาร่วมยกระดับ SMEs หนุนเศรษฐกิจไทยสู้ในระดับโลก ไปด้วยกัน ในมุมของผู้ตัวแทนภาคประชาชนผู้ประกอบการ SMEs นายวัชรศักดิ์ จงไกรรัตนกุล ที่ปรึกษา Marketing Technology & Matching ภาครัฐและเอกชน ในเชิงเป็นผู้ที่กระตุ้นและจะสะท้อนไปถึงยังฝ่ายบริหาร
รัฐบาลในขณะนี้มีนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นโครงการแจกเงินหมื่นฟื้นเศรษฐกิจ และโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในมุมของ SMEs
ด้าน นายวัชรศักดิ์ กล่าวว่า “สำหรับโครงการแจกเงินหมื่นฟื้นเศรษฐกิจ ผมมองว่า เป็นแค่การกระตุ้น แต่ยังไม่ กระเพื่อมไปถึงทุกองคาพยพของ SMEs เปรียบเสมือนเป็นการ “จุดไฟแช็ก” แต่ยังไม่ถึงกับขนาดเท่า “กองไฟ” เพราะโครงการในเฟสนี้ ยังไม่มีกรอบการใช้เงินอย่างชัดเจน เงินตรงนี้ออกไปนอกระบบหมด เช่น กลุ่มเปราะบางก็นำไปใช้จ่ายหนี้สิน ค่าน้ำ ค่าไฟ อาจมีจ่ายค่าแชร์อีกนิดหน่อย และอาจจะมีการจ่ายค่าสินค้าต่าง ๆ ซึ่งไม่ลงสู่ SMEs โดยตรง จะหมดไปกับการจ่ายค่าสินค้าฟุ่มเฟือยซะหมด ไม่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจอย่างแท้จริง จึงทำให้ SMEs ยังไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร”
นายวัชรศักดิ์ กล่าวต่อว่า “แต่กลุ่ม SMEs เรายังจะลุ้นเฟสที่ 2 ซึ่งจะมาในเดือนพฤศจิกายน 2567 คาดว่าจะมีการทำผ่าน App ทางรัฐ ซึ่ง app ทางรัฐ จะมีหลายๆ ส่วนที่มีการลงโปรแกรมที่เกี่ยวข้องขึ้นมา อยากจะเสนอให้ App ทางรัฐ ควรจะมีปุ่มใน App ที่มีการซื้อสินค้าให้กับ SMEs เปิดโอกาสให้กับ SMEs สามารถวางสินค้าในกลุ่ม SMEs เพื่อการจับจ่ายใช้สอย”
“โดยกลุ่ม SME ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มภาคการผลิตขนาดเล็ก โดย SMEs จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มย่อย กลุุ่มย่อม และกลุ่มกลาง ทั้ง 3 กลุ่มนี้ คิดเป็น 35% ของรายได้มวลรวมของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่ากว่า 6,000,000 ล้านล้านบาท กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากโควิดเยอะมาก ภาครัฐควรจะให้โอกาสกลุ่มนี้เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนต่อไปสู่อนาคตได้” นายวัชรศักดิ์ กล่าว
นายวัชรศักดิ์ กล่าวต่อว่า “มองย้อนกลับไปโครงการแจกเงินหมื่นฟื้นเศรษฐกิจสำคัญ แต่ต้องมีเฟส 2 ซึ่งรัฐบาลมีจุดมุ่งหมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยจะเจาะที่กลุ่ม SMEs เพราะโปรเจคที่เพิ่งเปิดตัวไปก็คือ โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่เน้นผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อย จากผู้ประกอบการทั้งหมดมีประมาณ 90% ซึ่งสิ่งที่รัฐให้มีอะไรบ้าง เช่น การลดค่าเช่าพื้นที่ในส่วนราชการโดยภาคเอกชนเข้าร่วม ย้ำว่า เอกชนต้องเข้าร่วม เพิ่มพื้นที่ค้าขาย ลดค่าขนส่งสินค้าให้กับ SMEs ลดราคาสินค้าให้ประชาชน กลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าไปร่วมโครงการ ทั้งหมดนี้ ผมมองว่า ตอบโจทย์ SMEs เพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น”
“กลุ่ม SMEs ใช้ตลาดที่เป็นภาคเอกชนโดยส่วนใหญ่ ควรให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมโครงการให้มากที่สุด ชักช;นเอกชนเข้ามา อีกกลุ่มคือ ตลาดออนไลน์ แพลตฟอร์มต่าง ๆ เข้ามาเสริม เติม แต่ง ซึ่งจำนวนกลุ่มตลาดออนไลน์ในจำนวนตัวเลข 130 ผู้ประกอบการ ถือว่า ไม่เยอะและไม่น้อย แต่มองย้อนกลับไปที่ app ทางรัฐ ควรจะมีปุ่มเมนูซื้อ-ขายสินค้าใน App นี้ด้วย ซึ่งประโยชน์ตรงนี้ รัฐจะได้ประโยชน์จากการมีฐานข้อมูลที่ใหญ่มาก ๆ (Big Data) เพราะ Big Data นี้ สามารถประมวลผลนำไปสู่การพัฒนาให้สามารถเป็น Super App จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าในอนาคต เพื่อช่วย SMEs และสามารถแก้ไขปัญหาได้ถูกจุดอีกด้วย” นายวัชรศักดิ์ กล่าว
“ปัจจุบัน แพลตฟอร์มของตลาดออนไลน์ เช่น Shopee หรือ Lazada ทำให้เงินไทยไหลออกไปต่างประเทศหมด ตอนนี้ เรากำลังหาว่า มีตลาดออนไลน์ของไทยหรือไม่ เพื่อให้เงินนั้นหมุนเวียนในบ้านเรา แต่ก็แอบหวังว่า app ทางรัฐ กับเงินที่จะเข้ามาในเฟส 2 นั้น ควรจะมีตลาดออนไลน์ในชุมชนแล้วนำผู้ประกอบการ SMEs ใส่ลงไป ก็จะทำให้ผู้ใช้ App สามารถเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ใน App ทางรัฐ ซึ่ง App จะสามารถเป็นทั้งระบบออฟไลน์และออนไลน์ไปพร้อมๆ กัน เพื่อผสมผสานให้เกิด Impact เกิดแรงกระเพื่อม หรือเรียกว่า “ภาวะสึนามิเศรษฐกิจ” นายวัชรศักดิ์ กล่าว
นายวัชรศักดิ์ กล่าว “ทำไมถึงบอกว่า สิ่งที่รัฐดำเนินการอยู่ขณะนี้ เป็นการตอบโจทย์การกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้เพียงแค่ครึ่งเดียว ก็เพราะว่า ควรจะต้องมีเรื่องของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ขณะนี้เชื่อว่า เรายังไม่มี Big Data เป็นที่รวมศูนย์กลางของข้อมูลที่จะพัฒนาให้ตรงจุด แต่เมื่อไหร่ที่เรามี Big Data จะสามารถทำให้กระจายเงินในการพัฒนาได้อย่างทั่วถึง และจะสามารถบริหารจัดการได้ว่า กลุ่มไหน ควรจะได้รับเงินจำนวนเท่าไหร่ จะทำให้โครงการนั้นเกิดความมั่นคงและชัดเจนมากยิ่งขึ้น”
“ขณะนี้ SMEs ในบ้านเรา กระจัดกระจายอยู่หลายกระทรวงมาก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ยังไม่สามารถลิงก์ถึงกันได้ แต่ถ้าในอนาคตรัฐสามารถนำข้อมูลตรงนี้มารวมกันได้ รัฐจะรู้ได้เลยว่า ตรงไหนมีปัญหา จะได้เสริมเติมแต่งพัฒนาผู้ประกอบการหรือป้อนเงินเข้าไปในระบบ เพื่อให้ถูกทางมีความแม่นยำ เราจะได้ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณอีกด้วย” นายวัชรศักดิ์ กล่าว
“หากจะเปรียบเทียบว่า ภาครัฐ คือผู้ขับเคลื่อนนโยบาย ส่วนภาคเอกชน เป็นผู้ลงมือปฏิบัติ ทำให้เห็นเป็นรูปธรรม นั่นหมายความว่าเราจะต้องเดินตามนโยบายของรัฐ ถือว่า ถูกต้อง” นายวัชรศักดิ์ กล่าว
“แต่นโยบายรัฐและต้องมีเอกชนร่วมด้วย ช่วยกัน สมการ ก็คือ 1 + 1 ต้อง = 3 หากรัฐ ทำคนเดียว เอกชน ทำคนเดียว จะไม่เกิดเป็น Impact รัฐต้องจับมือเอกชนทำไปพร้อม ๆ กันในเรื่องเดียวกัน จะทำให้ก้อนผลลัพธ์ในสมการ = 3 และต้องอยู่ในชุดข้อมูลเดียวกัน แต่ตอนนี้บ้านเราชุดข้อมูลยังไม่อยู่ในก้อนเดียวกัน ยังไม่ชัดเจน” นายวัชรศักดิ์ กล่าว
“ในบ้านเรา Micro SMEs (วิสาหกิจรายย่อย) ในบ้านเรา มีความรู้และทักษะ (Know How) อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ลึกซึ้ง เรามีแค่แก่น และจะทำอย่างไรล่ะ ให้แก่นสามารถเติบโตได้ รัฐต้องเสริมด้านเงินลงไป เสริมตลาดเข้าไป เพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะ (Know How) ตัวนี้ให้เติบโต แต่จะต้องใส่เงินเข้าไปด้วยแล้วก็ใส่ตลาดเข้าไปด้วย” นายวัชรศักดิ์ กล่าว
“ซึ่งตอนนี้โครงการบ้านเราก็คือ รัฐยังไม่ได้ให้ตลาด ยังไม่เกิดการซื้อขาย ดังนั้น หากจะให้ SMEs ยั่งยืน รัฐต้องเปิดโอกาสให้เกิดการซื้อขาย หมายความว่า ต้องทำการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) เพื่อให้เกิดการซื้อขายขึ้น เมื่อเกิดการซื้อขายขึ้นแล้ว จะทำให้เอกชนสามารถที่จะเติบโตได้” นายวัชรศักดิ์ กล่าว
“หากจะให้ SMEs เกิดการซื้อขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ในแอพพลิเคชั่นของไทยได้ นั้น ปัญหาหลัก ๆ ของ App ในบ้านเรา ถ้าทำออกมา จะสามารถซื้อนายทุนต่างประเทศอย่าง Lazada หรือ Shopee ได้อย่างไรเรื่องนี้ ผมมองว่า รัฐต้องช่วย SMEs ให้เข้าถึงได้ง่าย รัฐต้องเริ่มจาก App ทางรัฐ ต้องมีสักปุ่มก่อน โดยเริ่มจาก วิสาหกิจชุมชน เป็นสินค้าพื้นบ้าน OTOP สินค้าเกษตร ที่พัก หรือบริการเหล่านี้สามารถทำได้หมด โดยให้รัฐสนับสนุนงบประมาณ หากผู้ที่ซื้อสินค้าใน App ทางรัฐนี้ จะได้รับโปรโมชั่นพิเศษ เพื่อให้ App ของภาครัฐสามารถใช้ได้อย่างยั่งยืน” นายวัชรศักดิ์ กล่าว
นายวัชรศักดิ์ กล่าวอีกว่า “ปัญหาของ App ภาครัฐ ใช้ได้แค่ครั้งเดียว แล้วไม่สามารถใช้ได้อีก ซึ่งตรงนี้ ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณไม่ก่อให้เกิดความคุ้มค่า งบที่กระตุ้นเศรษฐกิจควรให้อยู่ใน แพลตฟอร์ม App ที่ทุกคนสามารถใช้ได้ โดยให้สัดส่วนเงินหมุนเวียนที่ไปอยู่กับ App ต่างประเทศ มาเป็นการจับจ่ายใช้สอยใน App ของไทยเราให้เงินและเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย” นายวัชรศักดิ์ กล่าว
“ถามว่า App ของไทยเราในอนาคตจะสามารถเป็น Super App อยู่ในระบบโลกได้มั้ย สามารถไปถึงจุดนั้นได้ แต่ต้องเริ่มจากฐานรากในไทยก่อนให้เกิดการซื้อขายให้ได้ก่อน แต่ปัจจัยสำคัญหากเราจะถึงระดับโลกได้นั้น สินค้าของเราจะต้องได้คุณภาพ แล้วต้องมีดีไซน์ที่ล้ำ สินค้าไทยของเรามีอัตลักษณ์อย่างมาก แต่ที่เรายังไม่สามารถก้าวไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ เพียงเพราะเรายังขาด “ความคิดสร้างสรรค์” เราต้องเตรียมตัวจากเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแรงเสียก่อน จึงจะสามารถยกระดับไปสู่ตลาดโลกได้ ผมเชื่อว่า “คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” เราต้องทำให้ พลเมือง(Citizen) 70 ล้านคน มีคุณภาพ จึงจะสามารถก้าวไปสู่การแข่งขันในตลาดโลกได้ ปัจจุบัน เราต้องปรับเปลี่ยนให้ คนรุ่นใหม่ เข้ามาช่วยสรรค์สร้างให้สินค้า OTOP ในไทยมีความทันสมัย ตอบโจทย์เท่าทันตลาดโลก ทั้งนวัตกรรม เทคโนโลยี ความทันสมัย” นายวัชรศักดิ์ กล่าว
นายวัชรศักดิ์ กล่าวต่อว่า “ในประเด็น โครงการคนละครึ่งภาคแรงงาน เดือนละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน รัฐช่วยค่าครองชีพครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งภาคเอกชนเข้ามาช่วย ในประเด็นนี้ ส่วนตัวผมเห็น ทุกอย่างเราต้องเก็บข้อมูล เพราะเรายังไม่มีข้อมูลว่า กลุ่มใดเป็นนโยบายแบบไหน ต้องกำหนดโครงการหรือนโยบายให้ตรงกลุ่ม ต้องเข้าถึงปัญหาและกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง”
“พูดถึงแพลตฟอร์มบ้านเรา มีแพลตฟอร์มที่รวม data ชื่อว่า LiVE Platform ของตลาดหลักทรัพย์ ที่เป็นการรวมของวิสาหกิจขนาดย่อม เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ แต่ตอนนี้หากรัฐ ต้องการแบบของเศรษฐกิจจีน อาจจะต้องมีการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน และ SMEs เป็นการร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่ายเพื่อให้เศรษฐกิจ SMEs เดินหน้าไปได้อย่างยั่งยืนและสามารถสู้ตลาดโลกได้” นายวัชรศักดิ์ กล่าวในที่สุด
อรวรรณ สุขมา : รายงาน