Last updated: 17 ก.พ. 2568 |
สุดยอดเวที AI เกษตรไทย! BDI จับมือ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ม.อ.ภูเก็ต จัดแข่งขัน “Durian Hackathon 2025” ครั้งแรก เฟ้นหาสุดยอดนักพัฒนา AI พลิกโฉมวงการเกษตรสุดยอดเวที AI เกษตรไทย! BDI จับมือ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ม.อ.ภูเก็ต จัดแข่งขัน “Durian Hackathon 2025” ครั้งแรก เฟ้นหาสุดยอดนักพัฒนา AI พลิกโฉมวงการเกษตร
17 กุมภาพันธ์ 2568, ภูเก็ต – สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI ร่วมกับ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต จัดการแข่งขัน “Durian Hackathon 2025” เวทีประชันไอเดียระดับประเทศครั้งแรก ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ระหว่างวันที่ 15 - 16 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อเฟ้นหานวัตกรรมที่ช่วยยกระดับภาคการเกษตร หนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
การแข่งขันครั้งนี้เต็มไปด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์และความมุ่งมั่น โดยมีผู้เข้าแข่งขันจากทั่วประเทศรวมตัวกันเพื่อแสดงศักยภาพ พร้อมนำเสนอแนวทางที่สามารถเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรไทยให้ตอบโจทย์ความท้าทายแห่งยุคดิจิทัล โดยทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “เขามันวินเทจ เรามันเกษตรอินทรีย์” ซึ่งโดดเด่นด้วยแนวคิดที่ผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ผลงานนี้สะท้อนถึงเป้าหมายของการแข่งขันที่มุ่งผลักดันภาคเกษตรไทยให้เติบโตและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในอนาคต
ดร.สุนทรีย์ ส่งเสริม รองผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI) ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการจัดกิจกรรม กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของ BDI คือ การพัฒนาบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้าน Big Data และ AI ที่สามารถนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมของประเทศ รวมถึงภาคเกษตร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจและสังคมไทย
Durian Hackathon 2025 คือ กิจกรรมความร่วมมือระหว่าง BDI และ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมจากทั่วประเทศ ได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ภายใต้การดูแลและให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ โดยไฮไลต์สำคัญของงาน คือ การแข่งขัน Hackathon ที่ให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองใช้เทคโนโลยีจริงในการแก้ปัญหาทางการเกษตร
กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมทั้งหมด 86 คน จาก 11 จังหวัด แบ่งออกเป็น 21 ทีม ที่มาจากหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น นักศึกษา นักวิจัย เกษตรกร ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล และนักกลยุทธ์ โดยแต่ละทีมประกอบด้วย ผู้ที่มีทักษะทางการวิเคราะห์ข้อมูล และเกษตรกรตัวจริงในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างเทคโนโลยีและประสบการณ์จริง
สำหรับโจทย์การแข่งขันในปีนี้ คือ การวิเคราะห์ภาพถ่ายต้นทุเรียนเพื่อพยากรณ์โรค โดยใช้ข้อมูลจากพื้นที่เพาะปลูกจริง ผู้เข้าแข่งขันต้องเริ่มต้นจากการตรวจสอบความสมบูรณ์ของชุดข้อมูล ค้นหาความผิดปกติ ปรับแต่งและทำความสะอาดข้อมูล (Data Cleaning) ให้พร้อมใช้งาน สำหรับการนำไปพัฒนาโมเดลพยากรณ์ แล้วจึงทำการเลือกอัลกอริทึมที่เหมาะสมสำหรับพยากรณ์ พัฒนา ปรับแต่ง จนได้โมเดลพยากรณ์ที่มีประสิทธิภาพ ระหว่างการแข่งขัน พบว่า แต่ละทีมสามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากมุมมองที่แตกต่างกัน และนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่หลากหลาย รวมถึงสามารถประยุกต์ใช้ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อพัฒนาโมเดลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เป้าหมายสำคัญของการจัดกิจกรรมนี้ คือ การพัฒนะทักษะด้าน Big Data และ AI รวมทั้งการสร้างโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันเปลี่ยนไอเดียให้กลายเป็นนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง พร้อมยกระดับภาคการเกษตรของไทยให้ตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัล การแข่งขันนี้ไม่เพียงปลุกกระแส AI ในภาคเกษตรไทย แต่ยังเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อเสริมศักยภาพให้เกษตรกรไทยสามารถปรับตัวและเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต” ดร.สุนทรีย์ กล่าวปิดท้าย
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดี ม.อ.ภูเก็ต กล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Computer Vision สำหรับการเกษตร โดยเฉพาะในกลุ่ม Smart Farmer และ Young Smart Farmer ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเกษตรที่มีศักยภาพในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรกรรม เทคโนโลยี AI และ Computer Vision สามารถมาช่วยพัฒนา การตรวจจับและแยกแยะวัตถุในภาพ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่แม่นยำ และการคาดการณ์โรคพืช นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรม
****ผลการแข่งขัน Durian Hackathon 2025***รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม เขามันวินเทจ เรามันเกษตรอินทรีย์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม ArgriTech รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม นั่งจุ๊ยรางวัลชมเชย 1 ได้แก่ ทีม No Durian No Life รางวัลชมเชย 2 ได้แก่ ทีม หยิบทุเรียนมาตัว ๆ กันป่าวประกาศนียบัตรสำหรับทีมมุ่งมั่นพยายามสูงสุด ได้แก่ ทีม อ้ายมาห้าคน ประกาศนียบัตรสำหรับทีมอายุน้อยที่สุด ได้แก่ ทีม Manta Ray By KS
ขณะที่นางสาวเจนตา วงศ์เลิศสกุล ผู้แทนจากทีมเขามันวินเทจ เรามันเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า ความท้าทายของการแข่งขันครั้งนี้ คือ การจัดการกับชุดข้อมูลที่มีข้อจำกัด ทั้งปริมาณที่น้อยและมีหลาย Label ในบางส่วน การแก้ปัญหานี้ทำให้ได้ประสบการณ์ในการจัดการกับข้อมูลประเภทนี้ ซึ่งนำไปสู่การลองใช้วิธี Clustering เพื่อช่วยในการจัดกลุ่มข้อมูล ก่อนนำไป Train Model เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานที่ซับซ้อนในอนาคตได้ นอกจากทักษะด้านข้อมูลแล้ว กิจกรรมนี้ยังสอนให้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญไม่แพ้กันอีกด้วย