Last updated: 18 พ.ค. 2564 |
นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ณ กรุงเทพมหานคร และศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ณ นครปูซาน ณ ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ถนนราชดำเนิน โดยมีประธานมูลนิธิเกาหลี เอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกอาเซียนประจำประเทศไทย ผู้บริหาร แขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนเข้าร่วม
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า บันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ เป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้าง การแลกเปลี่ยนมรดกวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้และอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรมในสาขาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่การแลกเปลี่ยนกิจกรรมโครงการด้านศิลปวัฒนธรรม แต่มุ่งที่จะส่งเสริมเผยแพร่องค์ความรู้และอัตลักษณ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของ สิบประเทศสมาชิกอาเซียนไปสู่ภายนอกภูมิภาค โดยมีศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ณ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลีเป็นช่องทางการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิด ซึ่งกิจกรรมแรกภายหลังการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ นี้ คือ โครงการวัฒนธรรมสัญจร อาเซียนสู่โลก ณ สาธารณรัฐเกาหลี โดยคณะศิลปิน “วีว่า อาเซียน (VIVA ASEAN)” จะนำการแสดงศิลปวัฒนธรรมอาเซียนและนิทรรศการปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียนไปเผยแพร่ ณ เมืองควางจูกรุงโซล นครปูซาน และเมืองเชยองจู สาธารณรัฐเกาหลี ในเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ทางประเทศไทยยังเตรียมใช้พื้นที่ของศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ณ นครปูซาน จัดกิจกรรมการเวทีเจรจาทางธุรกิจอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ระหว่างผู้ประกอบการภาพยนตร์ไทยและเกาหลี ในช่วงการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ปูชาน เดือนตุลาคมนี้เช่นกัน
สาระสำคัญในบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะดำเนินการตามรูปแบบการประสานงานและความร่วมมือดังต่อไปนี้
1.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการนำเสนอผลงานศิลปะและวัฒนธรรมที่มีคุณภาพสูง อาทิ โรงละคร ดนตรี การเต้นรำ วรรณกรรม ตลอดจนกิจกรรมและการศึกษาด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ รูปแบบการนำเสนออาจรวมถึงการจัดนิทรรศการ การแสดง การฉายภาพยนตร์ การประชุมวิชาการ การประชุมอภิปราย การประชุมเชิงปฏิบัติการ การพบปะหารือ การสร้างเครือข่าย
2.เพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างคู่ภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการและกิจกรรมหลักที่ช่วยเพิ่มการแลกเปลี่ยนระดับสถาบันและระดับประชาชน การแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม และ การร่วมมือเพื่อเพิ่มการประสานพลังด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์
3.แลกเปลี่ยนบุคลากร ข้อมูล และเทคนิค เพื่อสนับสนุนการแบ่งปันประสบการณ์ การปฏิบัติ รวมถึงกระบวนการในขอบเขตที่เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน 4.อำนวยให้เกิดการติดต่อสื่อสารร่วมกันและจัดประชุมร่วมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการที่มีศักยภาพและส่งเสริมความร่วมมือของ คู่ภาคีในการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม 5.สนับสนุนกิจกรรมอื่นที่อาจถูกร้องขอภายใต้การยินยอมร่วมกันของ คู่ภาคีและและคู่ภาคีอื่นตามความเหมาะสม.