Last updated: 18 พ.ค. 2564 |
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมมือกับเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน ทั้งห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ออกมาณรงค์และนำร่องงดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวโดยสิ้นเชิง ในบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อรายใหญ่กว่า 43 ภาคี อาทิ ห้างเซลทรัล เดอะมอลล์ บิ๊กซี เซเว่น อีเลฟเว่น โลตัส ฯลฯ โดยเริ่มอย่างจริงจังตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา จนกลายเป็นกระแสอินเทรนด์ไปทุกวงการอยู่ในขณะนี้นั้น
แต่การงดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวดังกล่าว กลับมิได้มีการเตรียมการหาภาชนะอื่นใดมาใช้ทดแทนให้กับประชาชนผู้มาใช้บริการห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ดังกล่าวแต่อย่างใด แต่กลับเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อที่จะได้ลดต้นทุนด้านการจัดเตรียมถุงพลาสติกไว้ให้บริการลูกค้าลง แถมมีห้างสรรพสินค้าบางรายฉวยโอกาสในการโขกสับเรียกค่าภาชนะบรรจุสินค้าในราคาที่สูงเกินควร โดยที่ผู้บริโภคไม่สามารถปฏิเสธได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของร้านค้าที่จะต้องเตรียมหาภาชนะอื่นมาให้บริการลูกค้าฟรีมิใช่มาขูดรีดเอากับลูกค้า และดูเหมือนภาครัฐก็เพิกเฉย ทั้ง ๆ ที่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องงจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.61
การดำเนินการดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการเอาเปรียบและละเมิดสิทธิของผู้บริโภคอย่างร้ายแรง ทั้งนี้แม้การรณรงค์การแบนถุงพลาสติกเป็นสิ่งที่สังคมไทยส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่การที่ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ จะฉวยโอกาสในการลดต้นทุนในการบริการโดยไม่แจกถุงพลาสติกให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการซื้อสิ้นค้าในร้านของตน โดยไม่มีการจัดเตรียมภาชนะอื่นใดที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมาให้บริการทดแทน เป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภคในการจัดเตรียมภาชนะไปใส่สินค้าเอง แม้จะมีประชาชนจำนวนมากนำกระถัง ถุงผ้า ถุงปุ๋ย เข่ง กะละมัง ตะกร้า ฯลฯ ไปเตรียมใส่สินค้า โดยถ่ายรูปนำมาแชร์กันในโซเชียลมีเดียอย่างสนุกสนานนั้น แต่ก็เป็นเพียงกระแสวูบวาปชั่วพักชั่วครู่ของคนไทยบางกลุ่มเท่านั้น หากแต่ในระยะยาวรัฐบาล และห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อจะต้องจัดหาภาชนะบรรจุสินค้าทดแทนมาให้บริการผู้บริโภคจึงจะชอบด้วยกฎหมาย
ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ให้ใช้อำนาจตาม ม.4 ประกอบ ม.10(1)(9) ของ พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522 ในการกำหนดมาตรการอย่างใด ๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคดังกล่าวโดยเร็ว โดยสมาคมฯจะเดินทางไปยื่นคำร้องในวันจันทร์ที่ 6 ม.ค.63 เวลา 13.30 น. ณ.สำนักงานคณะกรรมการคุมครองผู้บริโภค ชั้น 5 ศูนย์ราชการฯ อาคาร B ถ.แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กทม. นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด
11 ก.ย. 2567
13 ก.ย. 2567
13 ก.ย. 2567