Last updated: 10 ก.ค. 2565 |
“หมอนิธิพัฒน์" ชี้สัญญาณดี หลังปีใหม่ การสูญเสียจาก“โอมิครอน” น่าจะค่อยเป็นค่อยไป
การสูญเสียอาจไม่รุนแรงอย่างที่คิด
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก พร้อมระบุข้อความว่า “เป็นที่น่าดีใจว่ายอดผู้ป่วยรายวันยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และยิ่งไปกว่านั้น จากภาพข่าวที่เห็นในหลายช่องทาง การฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ทั่วประเทศ เป็นไปอย่างราบรื่นตามมาตรการควบคุมโรคโดยเคร่งครัด
ทั้งผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงานต่างให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ถ้าเป็นเช่นนี้การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโอไมครอนหลังปีใหม่น่าจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ฮวบฮาบจนเป็นที่ตระหนกของทั้งภาคการแพทย์และภาครัฐที่รับผิดชอบเรื่องปากท้องของประชาชน
เริ่มต้นวันแรกของปีใหม่ด้วยการตรวจเยี่ยมผู้ป่วยในหออภิบาลระบบการหายใจ ตามภาระงานอาจารย์อำนวยการตลอดทั้งเดือนนี้ จำได้ว่าปีที่แล้วทั้งปีดูแลแต่ผู้ป่วยโควิด ส่วนผู้ป่วยทั่วไปมีอาจารย์ท่านอื่นมาช่วยทำหน้าที่ทดแทนให้ หวังว่าปีนี้จะได้กลับมาใกล้เคียงปกติ รับผิดชอบงานโควิดแค่ช่วงสั้นๆ ตามวงรอบ และเมื่อผ่านพ้นเดือนมิถุนายนไปได้ ทุกอย่างน่าจะกลับสู่สภาพปกติของการประกอบเวชปฏิบัติวิถีใหม่ (new normal medical practice)
เอาฤกษ์ด้วยการสักการะพระบรมรูปฯ คงคาดเดากันได้ว่าอธิษฐานขออะไรจากท่าน เมื่อปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับทีมแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอดเรียบร้อยแล้ว แวะไปเยี่ยมทีมโควิดศิริราช เกินครึ่งเดือนแล้วที่ไม่มีผู้ป่วยโควิดวิกฤตรายใหม่เข้ามา แม้จะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีผู้ป่วยโอไมครอนเพิ่มขึ้นในกรุงเทพมาตามลำดับ แม้จะเป็นวันหยุดช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่หมอและพยาบาลก็ยังต้องขึ้นเวรดูแลผู้ป่วยโควิดที่ตกค้างอยู่ในมืออีกสามคน
ที่สำคัญต้องเตรียมพร้อมเสมอสำหรับรับมือผู้ป่วยโควิดอาการรุนแรงหรือวิกฤตที่อาจจะเพิ่มเข้ามาใหม่เมื่อไรก็ได้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจพวกเขา และชดเชยพลังงานของตัวเองที่สูญเสียไปวันนี้ด้วย เราจึงเติมแคลอรีให้กันและกันจนล้นเกินตุนไว้ก่อน ด้วยโค้กแอนด์พิซซ่าอาหารที่ทรงคุณค่าทางใจ จากรูปเป็นเครื่องยืนยันสัจจธรรมของทีมที่ว่า งานหนักมิอาจขวางกั้นการเพิ่มดัชนีมวลกายของพวกเราได้
และสิ่งที่ช่วยยืนยันว่าความหวังอาจเป็นจริง รายงานขั้นต้นจากทีมแพทย์ของประเทศแอฟริกาใต้ ได้แสดงให้เห็นว่าในแง่การเจ็บป่วย โอไมครอนที่ระบาดในระยะแรกที่ประเทศเขานั้นไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด จากผู้ป่วยที่รับตัวไว้ในโรงพยาบาล 971 คน ของผู้ป่วยทั้งหมด 2,351 คน ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน ในภาพรวมผู้ป่วยมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่าระลอกก่อนๆ ทั้งการต้องรักษาด้วยออกซิเจน การใช้เครื่องช่วยหายใจ ระยะเวลาการอยู่โรงพยาบาล และอัตราการเสียชีวิต แต่ต้องติดตามดูกันต่อไปเพราะผู้ป่วยระลอกแรกของเขานั้นเป็นกลุ่มเปราะบางแค่ 23.3% https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2787776
บ้านเราคนฉีดวัคซีนกันเยอะแล้ว ถ้าระมัดระวังตัวกันดีๆ ไม่ให้ยอดผู้ป่วยพุ่งพรวดพราดจนล้นเกินศักยภาพที่ภาคการแพทย์เตรียมไว้ การสูญเสียจากโอไมครอนอาจจะไม่รุนแรงอย่างที่คิด และพี่น้องชาวไทยคงมีโอกาสได้ลืมตาอ้าปากกันเสียที หลังจากต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลมืดของโควิดที่ปกคลุมมานานกว่าสองปี #สู่ปีใหม่อันสดใสแบบอยู่ร่วมกับโควิด”