Last updated: 15 มี.ค. 2568 |
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ก็ได้นำคณะโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน กลุ่มภาคใต้ตอนบน และคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา นำโดย นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานกรรมาธิการ และ ดร.จำลอง อนันตสุข เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ พร้อมทั้งนายกิตติศักดิ์ หมื่นศรี รองประธานคณะกรรมาธิการฯ เดินทางไปยังโรงเรียนบ้านเกาะเต่า ต.เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฏร์ธานี เพื่อรับฟังปัญหาและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทำกินและการถือครองที่ดินในพื้นที่เกาะเต่า
พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง กล่าวว่า สิทธิการถือครองที่ดิน เป็นประปัญหาหลัก ซึ่งก็ต้องขอบคุณข้อมูลจากพี่น้องชาวเกาะเต่าที่ได้มอบให้กับสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งในครั้งนี้คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภาก็ได้ร่วมเดินทางมารับฟังปัญหาและศึกษาหาข้อเท็จจริง ซึ่งก็จะได้รวบรวมทั้งหมดและนำไปหาแนวทางในการช่วยเหลือ ให้ได้มีสิทธิในการครอบครองที่ดินทำกินโดยเร็ว
ทางด้านนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ก่อนลงพื้นที่คณะเราก็ได้ทำการศึกษาข้อมูลในเรื่องของข้อกฎหมาย ระเบียบอื่นๆ มาพอสมควร ซึ่งเมื่อได้มารับฟังปัญหาก็สามารถฟันธงได้เลยว่าการประกาศขึ้นทะเบียนของกรมธนารักษ์มีความคลาดเคลื่อน เพราะเดิมนั้นเรือนจำใช้พื้นที่เพียงบางส่วนของเกาะ จึงไม่สามารถไปประกาศเป็นพื้นที่ราชพัสดุทั้งเกาะ และการแค่ไปจดแจ้ง ไม่ได้หมายความว่าได้เป็นผู้ครอบครองแล้ว การที่จะได้สิทธิครอบครองอย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อจดแจ้งแล้วจะต้องทำประโยชน์บนพื้นที่ดินนั้น ซึ่งก็ไม่ได้ปรากฏว่าราชพัสดุเข้าไปทำประโยชน์ มีแต่ชาวบ้านที่อพยพมาจากทั้งเกาะพะงัน และเกาะสมุย เข้าไปทำกิน ซึ่งสวนมะพร้าวถือเป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าชาวบ้านมาทำประโยชน์บนเกาะนี้มานานร่วมร้อยปีแล้ว
“จากนี้ก็จะรวมนำข้อมูล หลักฐานข้อเท็จจริงทั้งหมดไปทำการศึกษาเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือ ซึ่งอาจจะใช้เวลาบ้าง แต่เมื่อได้เห็นความทุกข์ร้อนของประชาชน ก็จะรับไปดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ครับ” ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าว
ปัญหาข้อพิพาทปัญหาที่ดินจำนวน 15,000 ไร่ระหว่างชาวบ้านและกรมธนารักษ์ ยืดเยื้อมายาวนานกว่า 40 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2529 ราษฏรเกาะเต่าได้ยื่นเรื่องร้องเรียนไปหลายแห่ง เช่น รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษย์ชน, ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี แม่ทัพภาค 4 ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4)
โดยชาวบ้านในเกาะเต่าอาศัยอยู่มานานตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2480 ก่อนที่ราชทัณฑ์จะมาสร้างเรือนจำปี พ.ศ. 2485 พอเรือนจำไม่ได้ใช้งาน ทางกรมธนารักษ์ ก็แจ้งสิทธิการครอบครอง ส.ค.1 และขึ้นทะเบียนเกาะเต่าเป็นที่ราชพัสดุทั้งเกาะจำนวน 15,000 ไร่ หรือประมาณ 21 ตารางกิโลเมตร ซี่งความจริงแล้ว เรือนจำ มีเนื้อที่เพียง 25 ไร่เท่านั้น และในปี พ.ศ.2498 ราษฎรเกาะเต่าที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินไปขึ้นทะเบียนสิทธิครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) แต่ไม่สามารถแจ้งสิทธิการครอบครองได้ สรรพากรอำเภอเกาะสมุย ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลังได้แจ้งการครอบครองที่ดินบริเวณเกาะเต่า เนื้อที่ 15,000 ไร่ เกินกว่า 25 ไร่ ที่กรมราชทัณฑ์ครอบครอง ซึ่งเป็นการขึ้นทะเบียนโดยความผิดพลาดคลาดเคลื่อน แต่ชาวบ้านยังคงครอบครองและทำกินในที่ดินดังกล่าวต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน