Last updated: 4 ส.ค. 2564 |
แพทย์แผนไทยเผยผลวิจัยช่วยให้สตรีวัยทองนอนหลับสนิท เพิ่มคุณภาพชีวิตลดการตื่นระหว่างการนอนหลับ พร้อมแนะนำสมุนไพรใกล้ตัวปรุงอาหารมื้อเย็น เสริมประสิทธิภาพการนอนหลับ ตื่นมาสดชื่น
นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ โฆษกกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า จากข้อมูลประชากรและการคาดการณ์ประชากรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า อัตราการเพิ่มของสตรีวัยทองจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากคนไทยมีอายุยืนยาวมากขึ้น สตรีวัยทองจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน เมื่อเข้าสู่วัยทองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง และอาจเกิดอาการต่าง ๆ จากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น การเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทอัตโนมัติ ได้แก่ มีอาการร้อนวูบวาบ (hot flush) และเหงื่อออกในตอนกลางคืน (night sweat) อาการเหล่านี้อาจรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน และถ้าเกิดขึ้นในตอนกลางคืนอาจรบกวน การนอนหลับได้ ซึ่งปัญหาการนอนไม่หลับเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญของสตรีวัยทอง การจัดการปัญหาการนอนไม่หลับมีหลายวิธีด้วยกัน สำหรับการใช้ยานอนหลับเป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาแต่ควรอยู่ภายใต้ การดูแลของแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะไม่ค่อยใช้ยาในการรักษา เพราะการใช้ยานอนหลับในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ อาจทำให้เกิดการดื้อยาจนเกิดความแปรปรวน
ต่อกลไกการนอนหลับของร่างกาย
ทั้งนี้ เพื่อให้ปัญหาของสตรีวัยทองตามที่กล่าวมาแล้วนั้น ลดน้อยลงด้วยการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาของชาติที่มีการสืบสานต่อยอดในการดูแลสุขภาพหลากหลายวิธีการ ซึ่งการอบไอน้ำสมุนไพรเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้กลุ่มสตรีวัยทองนอนหลับสบายขึ้น โดยผลลัพธ์ดังกล่าวจากการศึกษาวิจัยการเปรียบเทียบประสิทธิผลการอบไอน้ำสมุนไพรกับการอบไอน้ำต่อคุณภาพการนอนหลับของสตรีวัยทองที่มีปัญหานอนไม่หลับของวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดยะลา พบว่า การอบไอน้ำสมุนไพร จำนวน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ มีผลช่วยให้คุณภาพในการนอนหลับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอนหลับได้ง่ายและเร็วขึ้น ลดการตื่นระหว่างการนอนหลับ และมีผลทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ช่วยให้ระบบการไหลเวียนภายในร่างกายทำงานได้ดียิ่งขึ้น สำหรับการอบไอน้ำสมุนไพรมีให้บริการในคลินิกการแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ
นายแพทย์ปราโมทย์ กล่าวต่อว่า นอกจากกระบวนการอบไอน้ำแล้ว ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพให้นอนหลับช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย คือ ยาหอมเทพจิตร ขนาดและวิธีใช้ รับประทานครั้งละ 1-1.4 กรัม ละลายในน้ำอุ่น ดื่มทุก 3 - 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง ส่วนสมุนไพรที่ช่วยให้นอนหลับสบาย เสริมเป็นเมนูอาหารจากสมุนไพรที่มีรสขมเย็น เช่น ขี้เหล็ก มะระจีน มะระขี้นก สะเดา หากนำมาปรุงเป็นอาหารมื้อเย็น จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการนอนหลับได้ดีมากยิ่งขึ้น
13 ก.ย. 2567
11 ก.ย. 2567
13 ก.ย. 2567