Last updated: 10 ก.ค. 2565 |
กรมชลประทาน ลงพื้นที่ ติดตามความก้าวหน้างานสำรวจ ออกแบบโครงการปรับปรุงระบบชลประทานพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วันที่ 6 ตุลาคม 2564 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน พร้อมคณะผู้บริหาร นำสื่อมวลชน ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามความก้าวหน้างานสำรวจ ออกแบบโครงการปรับปรุงระบบชลประทานพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และลงพื้นที่ประตูระบายน้ำพระมหินทร์ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการปรับปรุงระบบชลประทานพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เป็นโครงการแผนงานที่ 1 ของแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จำนวน 9 แผน โดยมีมติเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 โดยกรมชลประทานได้มีการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และได้ว่าจ้างกิจการร่วมค้า FPWF VJ ดำเนินงานสำรวจ ออกแบบ โครงการปรับปรุงระบบชลประทานพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นการปรับปรุงระบบระบายน้ำในพื้นที่โครงการ เริ่มจากแม่น้ำป่าสัก ผ่านพื้นที่ 38 ตำบล 11 อำเภอ ใน 6 จังหวัด คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่จากเดิม 200 ลบ.ม./วินาที เป็น 400 ลบ.ม./วินาที
"สำหรับองค์ประกอบโครงการ แบ่งเป็น 1.งานปรับปรุงคลอง เป็นการปรับปรุง/ขุดลอก เป็นระบบคลองเปิด ทั้งแบบคลองกำแพงตั้งและคลองดิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองชลประทานและคลองธรรมชาติเดิมให้สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา 100 ลบ.ม./วินาที ระบายน้ำออกแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางประกง ประมาณ 156 ลบ.ม./วินาที และระบายน้ำสู่ทะเลบริเวณอ่าวไทย 144 ลบ.ม./วินาที ตามศักยภาพของสถานีที่มีอยู่ (ปี 2560) ซึ่งมีจำนวนคลองที่ต้องออกแบบปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำทั้งสิ้น 31 คลอง รวมความยาวประมาณ 525 กิโลเมตร 2.งานก่อสร้างอาคารบังคับน้ำใหม่ เป็นการออกแบบอาคารบังคับใหม่ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในช่วงฤดูน้ำหลากและฤดูน้ำแล้ง ประกอบด้วย ประตูระบายน้ำ และท่อระบายน้ำ จำนวน 12 แห่ง และ 3 งานปรับปรุงอาคารบังคับน้ำและสะพาน จากจำนวนอาคารชลประทานในระบบชลประทานเดิมทั้งสิ้น 63 แห่ง บางส่วนจะทำการปรับปรุง ซึ่งจะมีทั้งการก่อสร้างใหม่ทกแทนอาคารเดิม เพิ่มช่องบานระบาย และรื้อถอนอาคารเดิม ประกอบด้วย ประตูระบายน้ำ ท่อระบายน้ำ และสะพานข้ามคลอง รวม 9 แห่ง" นายเฉลิมเกียรติกล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเกือบทุกปี และมีแนวโน้มเกิดถี่ขึ้น โดยเฉพาะมหาอุทกภัยครั้งสำคัญในปี พ.ศ.2554 มีปริมาณน้ำหลากเกินศักยภาพการระบายน้ำในปัจจุบันของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำท่วมมากกว่า 20,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตรกรรม ชุมชนอยู่อาศัย แหล่งอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยวถึง 20 ล้านไร่ มีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.42 ล้านล้านบาท ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ