องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) แถลงมีมติ 29-0 ให้ยกเลิกกิจกรรมขบวน"อัญเชิญพระเกี้ยว"

Last updated: 26 ต.ค. 2564  | 

องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) แถลงมีมติ 29-0 ให้ยกเลิกกิจกรรมขบวน"อัญเชิญพระเกี้ยว"

ขอนามพระเกี้ยวยั่งยืนยง

19 มกราคม 2523 เวลาประมาณหนึ่งทุ่ม ผมกับเพื่อน ๆได้เดินเตร็ดเตร่อยู่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อสัมผัสบรรยากาศการเตรียมตัวขบวนพาเหรด การเตรียมตัวการแปรอักษร ของพี่ ๆนักศึกษาธรรมศาสตร์ สำหรับงานฟุตบอลประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 36   โดยจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2477 ทำให้เป็นฟุตบอลระหว่างมหาวิทยาลัยที่มีความเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย  ฟุตบอลประเพณีก่อให้เกิดความรักความสามัคคีของนิสิตนักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมทั้งในสถาบันเดียวกันและต่างสถาบัน ขณะเดียวกันยังถือเป็นวันนัดหมายให้รุ่นพ่อรุ่นแม่รุ่นพี่ได้กลับมาพบปะสังสรรค์กัน ได้มาร่วมร้องเพลงเชียร์กับนิสิตนักศึกษารุ่นปัจจุบัน วันนั้นผมกับเพื่อน ๆได้ซื้อเสื้อเชียร์ของธรรมศาสตร์ เพื่อใส่ไปเชียร์ฟุตบอลที่สนามศุกชลาสัยในวันรุ่งขึ้น หลังจากนั้นเมื่อจบม.ศ.5 ในยุคนั้น ผมก็ไม่สามารถเอ็นทรานซ์ติดที่ธรรมศาสตร์หรือจุฬาฯ ได้ตามที่หวังไว้ครับ ผมจึงไม่ได้เป็นนิสิตหรือนักศึกษาเก่าของทั้งสองสถาบันครับ...

แต่ผมจะขอแส่...กับเรื่องที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2564 สรุปโดยย่อว่า องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) แถลงมีมติ 29-0 ให้ยกเลิกกิจกรรมขบวน"อัญเชิญพระเกี้ยว"ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์”ด้วยเหตุผลที่ว่า กิจกรรมขบวน "อัญเชิญพระเกี้ยว" สนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม ค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน เป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินาที่มีสัญลักษณ์คือ “พระเกี้ยว” บนเสลี่ยง ในส่วนของกระบวนการคัดเลือกผู้อันเชิญฯ ยังเป็นที่กังขาถึงความโปร่งใส เพราะมีการบังคับผ่านการอ้างว่าจะมีผลต่อคะแนนการคัดเลือกให้มีสิทธิอยู่ในหอพัก ต่อไป... 

ผมขอแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ แบบไม่มีเรื่องการเมืองใด ๆ ไม่มีพวกซ้าย ไม่มีพวกขวานะครับ ผมไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีครับ ผมเห็นว่าพระเกี้ยวคือตราสัญลักษณ์ของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และทุกสถาบันการศึกษาต้องมีตราสัญลักษณ์เพื่อจะบ่งบอกว่าคุณเรียนอยู่ที่ไหน แม้แต่ผมก็เคยใช้ตราสัญลักษณ์ภารดาคณะเซนต์คาเบรียลสมัยเป็นนักเรียน ตราสัญลักษณ์เป็นความภาคภูมิใจของคนที่ได้ศึกษาที่สถาบันนั้น ๆ สื่อถึงการมีที่มาที่ไป และการอัญเชิญตราสัญลักษณ์พระเกี้ยวและธรรมจักรหน้าขบวนพาเหรดของทั้งสองมหาวิทยาลัยถือเป็นภาพจำที่สวยงามของฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ มาอย่างยาวนาน ถ้าขบวนของจุฬาฯ ไม่มีพระเกี้ยว ความสมบูรณ์ของพาเหรดจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย 

พระเกี้ยวหรือจุลมงกุฎ  เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกษาหรือพระเศียรของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์    และเป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5                                                                                                                                                          ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระราชทานตรา “พระเกี้ยว”แก่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยสืบไป วันนี้ตราพระเกี้ยวจึงเป็นสัญลักษณ์ของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และโรงเรียนอีกแหลายแห่ง ไม่ใช่จุลมงกุฎที่เป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาลที่ 5

การอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีปรากฏหลักฐานครั้งแรกในหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2507 โดยมีนิสิตหญิง 1 คน เป็นผู้อัญเชิญ โดยการอัญเชิญพระเกี้ยวเข้ามาสู่สนามการแข่งขันเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่นักกีฬาและกองเชียร์ โดยจะคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นนิสิตชาย 1 คน และ นิสิตหญิง 1 คน เพื่อเป็นตัวแทนบรรดานิสิตอัญเชิญพระเกี้ยวเข้าสู่สนามแข่งขัน ถึงแม้ว่านิสิตทุกคนต่างมีฐานะเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว[6] แต่เนื่องจากในทางปฏิบัตินั้นไม่สามารถให้ทุกคนเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวได้ จึงต้องคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นตัวแทนนิสิตเพื่อทำหน้าที่นี้ และในแต่ละปีก็จะมีการออกแบบขบวนอัญเชิญในรูปแบบแตกต่างกันไปตามความคิดสร้างสรรค์ของนิสิตนักศึกษาในแต่ละปี บางปีก็เป็นราชรถ บางปีก็เป็นรถตบแต่ง และที่เป็นปัญหาให้ อบจ.อยากให้เลิกคือรูปแบบเป็นเสลี่ยงมีคนแบกหามพระเกี้ยวและมีตัวแทนขึ้นไปนั่ง

ผมอยากถามว่า การยกเลิกการอัญเชิญพระเกี้ยวซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของจุฬาฯนั้น พวกคุณจะเอาตราสัญลักษณ์อะไรมาเดินขบวนนำหน้าสถาบันของคุณแทน คำว่าก้าวหน้าของพวกคุณอย่าทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอดีตสิครับ อะไรที่มันดีหรือไม่มีพิษภัยก็เก็บไว้ก็ได้ ถ้าคุณยืนยันว่าคุณแค่ต้องการปฏิรูปไม่คิดล้มล้าง ผมเห็นด้วยกับคุณ แต่ถ้าคุณใช้อำนาจของคณะกรรมการอบจ.มาตัดสินใจแทนคนจุฬาลงกรณ์ทั้งหมดเพื่อลบบางอย่าง เพื่อตอบสนองว่าเราชนะแล้ว มันจะทำให้ความคิดหลักของพวกคุณในการรณรงค์ขาดความชอบทำ เพราะพูดอย่างแต่ทำอีกอย่าง และผมว่ามันไม่แฟร์ จะต่างอะไรกับการกระทำบางอย่างของรัฐบาลที่คุณต่อต้านมาโดยตลอดว่าเป็นเผด็จการ ครับ และอย่าอ้างนะครับว่าพวกคุณได้รับการเลือกตั้งเข้ามา พวกเขาเลือกให้คุณเข้ามาเป็นตัวแทนในการตัดสินใจในเรื่องที่เป็นปกติเท่านั้น เรื่องยกเลิกการอัญเชิญพระเกี้ยวถือเป็นเรื่องไม่ปกติครับ คุณไม่ควรตัดสินใจแทนคนทั้งหมดแบบนี้ และถ้าคุณคิดว่าความคิดของคน 29 คนมันถูกต้องสุดติ่งกระดิ่งแมวจริง ผมขอแนะนำให้คุณทำการลงจุฬาฯมติจากนิสิตจำนวน 37,626 และบุคลากรอีก 8,138 คน ว่าเห็นด้วยหรือไม่ กับความคิดของคุณ มันจะสง่างามมากกว่าการออกแถลงการณ์แบบเผด็จการทางความคิดนะ

หรือจะเอาที่ง่ายกว่านั้น ผมมีสามทางเลือกเสนอให้พวกคุณพิจารณา คือข้อหนึ่ง ก็แค่เปลี่ยนรูปแบบการอัญเชิญเป็นใช้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า(ให้คณะวิศวะฯทำให้)ตบแต่งเป็นราชรถอัญเชิญพระเกี้ยว ตัวแทนนิสิตชายหญิงก็ลงมาเดินขนาบข้างไป ข้อกล่าวหาว่าไม่เท่าเทียม ศักดินา ก็จะหมดไป ใช้คนแค่สามคนพอ 

ข้อที่สอง...ออกแบบตราสัญลักษณ์ของจุฬาฯใหม่ให้ดูดีและเป็นที่ยอมรับและผ่านจุฬาฯมติแบบขาดลอย

ข้อที่สาม...ยกเลิกมติแล้วกลับไปเหมือนเดิม เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า

ขอนามพระเกี้ยวยั่งยืนยง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้