“แล้วชุดตรวจ ATK นี่ เราผลิตเองได้ไหมครับ?”

Last updated: 20 ส.ค. 2564  | 

“แล้วชุดตรวจ ATK นี่ เราผลิตเองได้ไหมครับ?”

คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

เมื่อไม่นานมานี้ผมเห็นข่าวนักวิจัยไทยของสวทช.สามารถคิดค้นวัคซีนโควิด-19 ชนิดสเปรย์พ่นทางปาก อยู่ในขั้นตอนเตรียมทดลองกับมนุษย์ หากการทดลองได้ผล คาดว่าคนไทยจะได้ใช้วัคซีนพ่นทางปากประมาณกลางปี 2565 เป็นชาติแรก ๆของโลก ซึ่งวัคซีนนี้นอกจากจะป้องกันไวรัสโคโรน่าได้ทุกสายพันธุ์แล้ว ยังสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่มีอยู่เดิมได้ทุกสายพันธุ์อีกด้วย ถือเป็นวัคซีน 2 in 1 พ่นหนึ่งเดียวป้องกันได้หมด และที่สำคัญวัคซีนชนิดพ่นจะลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากลิ่มเลือดอุดตันจากการฉีดวัคซีนผ่านทางกล้ามเนื้อ หรือพูดง่าย ๆว่าไม่มีอันตราย ไม่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตนั่นเอง และยังเหมาะสำหรับพ่นให้กับเด็กเล็กที่กลัวเข็มฉีดยาอีกด้วย...คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกครับ ปรบมือสิครับ จะรออะไร

ตื่นเต้นกับวัคซีนสเปรย์ได้ไม่นาน ผมก็ต้องตื่นเต้นอีกครั้งไปกับการแถลงข่าวจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้แถลงถึงการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนชนิด mRNAที่มีชื่อว่า ChulaCov-19 จากฝีมือคนไทยได้เป็นผลสำเร็จ วัคซีนจุฬาโคฟ-19 นี้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดี้ได้สูงเท่ากับวัคซีนไฟเซอร์ สามารถยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมและไวรัสข้ามสายพันธุ์ อัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบในคนเฟสที่ 2A หากการทดสอบเป็นผลสำเร็จ และอ.ย.ขึ้นทะเบียนรับรองการใช้วัคซีนเป็นการฉุกเฉิน คาดว่าจะสามารถฉีดให้กับคนไทยได้ประมาณเดือนเมษายน 2565 ยอดเยี่ยมครับ!!!คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกจริง ๆครับ เราเก่งมาก

ทำให้ผมนั่งจินตนาการแบบมองไปให้ไกลสุดสายตาเลยว่า หากเราทำสอบสำเร็จ เราน่าจะไม่ใช่แค่เพียงสร้างโรงงานผลิตวัคซีนเพื่อใช้ในประเทศเท่านั้น เราควรใช้โอกาสนี้วางแผนสร้างโรงงานผลิตวัคซีนขึ้นมาหลาย ๆ โรง เพื่อให้มีการผลิตวัคซีนสเปรย์, วัคซีนจุฬาโคฟ-19 และวัคซีนอื่น ๆ เพื่อการส่งออก อันจะสามารถนำเงินตราเข้ามาชดเชยส่วนที่เราขาดหายไปในห้วงเวลาสองปีที่ผ่านมา และนำมาฟื้นฟูประเทศของเราต่อไป แม้ว่าในที่สุดแล้วโควิด-19 ก็ต้องสิ้นสุดหยุดการระบาด กลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัดใหญ่ทั่วไป แต่คนในประเทศต่าง ๆ ก็ยังต้องฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปีเหมือนไข้หวัดใหญ่ต่อไป ทำให้โรงงานผลิตวัคซีนสามารถดำเนินการเป็นธุรกิจต่อเนื่องไปได้อีกนาน และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศไทยด้วยอีกทาง เมื่อใดก็ตามที่มีการระบาดแบบนี้อีกครั้ง เราก็มีโรงงานที่มีบุคลากรในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนขึ้นมารับมือได้ทันท่วงที

ผมขอเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รีบกระโดดลงมาคว้าโอกาสทองฝังเพชรนี้ไว้เลยครับ สั่งการให้รัฐมนตรีสาธารณสุขไปจัดการเรื่องผลงานวิจัยตีพิมพ์ เสนอให้องค์การอนามัยโลกรับรอง, รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์จัดหาบุคลากรเข้าทำงานในโรงงานผลิตวัคซีน, รัฐมนตรีอุตสาหกรรมจัดการเรื่องโรงงานและเครื่องจักร, รัฐมนตรีพาณิชย์ติดต่อเสนอขายให้กับเพื่อนบ้านต่างประเทศ, รัฐมนตรีการท่องเที่ยวฯทำงานโฆษณาประชาสัมพันธ์ และรัฐมนตรีท่านอื่น ๆ ร่วมสนับสนุนการขายวัคซีนในสายงานของท่าน โดยช่วงแรกผมเสนอให้เราใช้การส่งเสริมการขายด้วยการให้เขาไปทดลองใช้ฟรีก่อน พอใช้ได้ผลค่อยซื้อขายกัน  สำหรับราคาขายถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้วัคซีนไทยเป็นวัคซีนที่มีราคาถูกที่สุดในโลก กำไรแบบมีธรรมาภิบาลครับ และถ้าสามารถปรับเปลี่ยนชื่อให้มีคำว่า THAI ลงไปในชื่อวัคซีนได้ เช่น ChulaThaiVac, ThaiVacSpray ผมว่าจะทำให้การประชาสัมพันธ์ง่ายขึ้น คนจดจำได้มากขึ้นครับ

นอกจากนี้เรายังมีบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทย “ใบยา ไฟโตฟาร์ม” พัฒนาวัคซีนใบยา, วัคซีนชนิดเชื้อตาย  HXP-GPOVac โดยมหิดล, สวทช.ซึ่งนอกเหนือจากวัคซีนสเปรย์ ก็กำลังพัฒนาวัคซีนสำหรับฉีดด้วยเช่นกัน และรหน่วยงานอื่น ๆที่กำลังพัฒนาวัคซีนรวมอีกกว่า 20 ชนิด ผมอยากให้ท่านนายกฯช่วยเจียดงบประมาณไปให้หน่วยงานต่าง ๆเหล่านี้เพื่อการพัฒนาวัคซีนด้วยครับ คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์แน่นอน อันไหนลงตัวมีผลสำเร็จ ท่านรีบนำมาบริหารจัดการการผลิตออกมาเลยครับ ถ้าเป็นหน่วยงานราชการ รัฐฯลงทุน100% หากเป็นหน่วยงานเอกชน รัฐก็เข้าไปร่วมลงทุนไม่มีใครไม่อยากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหรอกครับ คนไทยเราจะได้มีวัคซีนเป็นของตัวเองเสียที ไม่ต้องงอนง้อขอซื้อจากคนอื่น และเราอาจจะนำรายได้เข้าคลังจำนวนมหาศาล อย่างที่คาดไม่ถึงก็ได้ครับ ในทุกวิกฤต...ย่อมมีโอกาสครับ 

อย่างที่ผมจั่วหัวไว้ครับ “คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” เรื่องวัคซีนเราทำได้อยู่แล้ว แต่ผมอยากเรียนถามไปยังนักวิจัยนักพัฒนาวัคซีนคนไทยทั้งหลายว่า

“แล้วชุดตรวจ ATK นี่ เราผลิตเองได้ไหมครับ?”

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้